วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

Guido D'Arezzo

Guido of Arezzo, Guido Aretinus, Guido da Arezzo, Guido Monaco หรือ Guido D'Arezzo เป็นนักบวชและนักทฤษฎีดนตรีในยุคกลาง (Medieval era) เขาเกิดเมื่อปี ค.ศ. 991 หรื992 และถึงแก่กรรมหลังปี ค.ศ. 1033


Guido เป็นนักบวชในคณะเบเนดิกต์จากเมือง Arezzo ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางของจังหวัดที่มีชื่อเดียวกัน เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้คิดค้นระบบบันทึกโน้ตดนตรีแบบสัญลักษณ์บรรทัดเส้น (Staff notation) ในสมัยใหม่ ซึ่งใช้แทนระบบการบันทึกโน้ตแบบตัวอักษรกรีก (Neumatic notation) ที่เป็นของเดิม งานเขียนของเขาที่ชื่อ Micrologus ถูกเขียนขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1025 หรือ ค.ศ. 1026 นั้นมีอิทธิพลเป็นอย่างสูงต่อการพัฒนาการประสานเสียงหลายเสียง (Polyphony) จังหวะที่เป็นอิสระ (Rhythmic independence) ที่ประสานเข้ากับท่วงทำนองที่เป็นอิสระ (Melodic independence) และผนวกเสียงร้องหลายแนวตั้งแต่ 2 ทำนองหรือมากกว่าในทำนองเพลงเดิมๆ ที่เรียบง่าย นับเป็นทฤษฎีทางดนตรีชิ้นที่สองซึ่งเป็นที่แพร่หลายมากที่สุดชิ้นหนึ่งในยุคกลาง ถัดจากงานเขียนของ Boethius (ค.ศ. 480–524 หรือ 525) นักปรัชญาชาวโรมในยุคกลางในศตวรรษที่ 6


ช่วงแรกนั้นเขาเป็นนักบวชอยู่ที่สำนักสงฆ์ที่ปอมโปซา (Pomposa) แถบชายฝั่งทะเลอะเดรติก (Adriatic) ใกล้กับเมืองเฟอรารา (Ferrara) ทางตอนเหนือของอิตาลี ขณะที่อยู่ที่นั่นเขาได้สังเกตเห็นความยากลำบากของนักร้องที่ต้องจดจำเพลง Gregorain Chant (พลงศาสนาดั้งเดิมที่มีระดับเสียงเดียว มีเพียงทำนองแต่ไม่มีเสียงประสาน) จึงได้คิดค้นวิธีการสอนเพลงร้อง (Chant) ให้กับนักร้องประสานเสียงเพื่อที่จะได้เรียนรู้ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งมันได้กลายเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในแถบทางตอนเหนือของอิตาลี แต่วิธีการของเขาได้สร้างความไม่พอใจให้กับพระคนอื่นๆในโบสถ์ เขาจึงต้องย้ายไปยังเมือง Arezzo ที่เมือง Arezzo นั้น เขาได้พัฒนาวิธีการสอนใหม่ๆ เช่น การเขียนบรรทัด 5 เส้น (Staff notaion), Solfeggio (ต้นกำเนิดของบันไดเสียง โด-เร-มี ซึ่งแต่ละคำดึงมาจากพยางค์แรกของวลีเพลงทั้ง 6 ในบทกวี Hymn, Ut queant laxis ) ซึ่งอาจจะมีรากฐานมาจากงานในสมัยแรกๆ ของเขาที่เมืองปอมโปซา


นอกจากนี้ Guido ยังได้รับการยกย่องอย่างไม่เป็นทางการว่า เป็นผู้คิดค้นระบบบันทึกโน้ตแบบ Guidonian Hand ซึ่งเป็นเทคนิคช่วยจำโน้ตที่ใช้กันอย่างกว้างขวาง โดยการตั้งชื่อโน้ตให้สัมพันธ์กับส่วนต่างๆ บนมือของมนุษย์


ชื่อของ Guido of Arezzo ถูกนำไปตั้งชื่อเป็นโปรแกรม GUIDO Music Notation เป็นระบบการนำเสนอการเขียนโน้ตเพลงด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์

Gallican Chant

Gallican Chant หมายถึง บทสวดที่ประกอบด้วยประเพณีของศาสนพิธีที่มีทำนองการร้องแนวเดียว (plainchant) ในพิธีกรรม Gallican ของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอริกในแคว้น Gaul ซึ่งเป็นเขตดินแดนยุโรปตะวันตกในสมัยโบราณ ก่อนที่จะถูกนำมาพัฒนาส่วนประกอบของพิธีกรรมแบบโรมันแล้วก็ค่อยๆพัฒนาจนกลายเป็น Gregorian Chant และต่อมาก็กลายเป็น Ambrosian Chant ในที่สุด ถึงแม้ว่าดนตรีของพิธีกรรม Gallican ที่เกือบจะสมบูรณ์นั้นส่วนใหญ่ได้ถูกทำลายไป แต่ร่องรอยที่ทำให้เชื่อว่างานเขียนของพิธีกรรม Gallican นั้นยังคงเหลืออยู่ คือในบทสวด Gregorian และบทสวดอื่นๆอีก ถึงแม้ว่าจะมีความแตกต่างกันในสไตล์การประพันธ์



ชื่อที่ใช้เรียกว่า “Gallican” นั้นบางครั้งอาจใช้ในความรู้สึกว่าเป็น ‘non-Roman’ ดังนั้น Gallican Chant อาจหมายถึง ผลงานประพันธ์เพลงในยุคเก่า วรรณกรรมดนตรีของคาบสมุทร Iberian บริเวณ Celtic และ ทางเหนือของ Italy (รวมถึง Milan) และในแคว้น Gaul ด้วย


รูปแบบการประพันธ์ Gallican Chant


โครงสร้างของ Gallican Chant นั้นคำที่ใช้ในบทสวดต้องมีความเข้มงวด มีแบบแผนที่ชัดเจน รูปแบบการใช้ภาษาต้องสวยงาม และในการสวดนั้นมีการใช้คำสำคัญในรูปแบบที่ซ้ำไปซ้ำมา ในเนื้อหาของบทสวดนั้นทั้งหมดจะกล่าวเพื่อสรรเสริญ พระบิดา พระบุตร และพระจิต ในส่วนของทำนองนั้น ใช้ทำนองที่คุ้นเคยจำง่าย มีการซ้ำทำนอง มีการเอื้อน โดยใช้ neumes (สัญลักษณ์ที่แสดงการขึ้นลงของเสียงร้องใช้แทนตัวโน้ตในการบันทึกโน้ตในยุคกลาง) และยังมีการนำทำนองจากเพลงอื่นเข้ามาใช้ร่วมอีกด้วย